"การ ชนวัว" เป็นกีฬาประเภทหนึ่งของชาวภาคใต้ที่นิยมกันมาก มีการพนันขันต่อได้เสียกันเป็นหมื่นเป็นแสน วัวชนมีทั้งผิดและชอบด้วยกฏหมาย ถ้าปฏิบัติถูกต้องก็เป็นการชอบด้วยกฏหมายเหมือนกับกีฬาอื่นๆ เช่น กีฬาชนไก่และกัดปลา อันเป็นกีฬาที่มีความนิยมรองลงมา กีฬา วัวชนเริ่มมีในสมัยใดมีความเป็นมาอย่างไร และทำไมจึงนิยมกันมากในภาคใต้ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด แต่บางท่านให้ความเห็นว่าไทยภาคใต้น่าจะได้มาจากโปรตุเกส คือ พระเจ้าเจ้าเอมมานูลเอลแห่งโปรตุเกสแต่งทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีใน พ.ศ. 2061 ซึ่งตรงกับสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และเมืองมะริด ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาเผยแพร่ขนบธรรมเนียมหลายอย่าง เช่น การติดตลาดนัด การทำเครื่องถม และการชนวัวรวมอยู่ด้วย วัวที่ จะใช้ชนนั้นจะต้องเป็นพันธุ์วัวชนโดยเฉพาะ วัวใช้งานธรรมดาจะนำมาเป็นวัวชนไม่ได้ ลักษณะของวัวชนที่ดีจะต้องมีใจทรหดอดทน มีไหวพริบในการชนดี และมีลักษณะอื่นๆ ที่ดีอีกหลายอย่าง เท่าที่มีผู้กล่าวไว้ถ้าประมวลมากล่าวเฉพาะที่สำคัญก็จะได้ดังนี้ 1. ลักษณะทั่วๆ ไป จะต้องมีรูปร่างประเปรียว ช่วงตัวยาว ท้องกิ่ว ลำตัวค่อนข้างหนา หลังหนาแบน คอสั้นหนาใหญ่ ช่วงขาสั้นและล่ำสัน คิ้วหนา ตาเล็ก สีตาดำ ใบหูเล็ก โหนกสูงใหญ่ (ภาคใต้เรียกว่าหนอก) มีขวัญที่ใต้โหนกและกลางหลังเยื้องไปทางด้านหน้าเหนียงคอ (ภาษาใต้เรียกว่าแร้ง) หย่อนยาน ลางตัวหย่อนยานมากเวลาก้มลงกินหญ้าจะจดพื้นดินก็มี แต่ลางพันธุ์ นิยมเหนียงคอสั้น เขาแข็งแรง ปลายเขาแหลมโค้ง โคนเขาทั้งสองใหญ่หางเรียวยาวจดพื้นดิน โคนหางใหญ่ปลายหางเป็นพู่ดูสวยงามมาก ลูกอัณฑะเล็ก ขนสั้นละเอียดเป็นมัน แต่ที่หน้ามีขนยาว เวลาเคี้ยวเอื้องน้ำลายเป็นฟอง และกีบตีนชิด เป็นต้น 2. ลักษณะเฉพาะพันธุ์ ลักษณะเฉพาะพันธุ์ ที่นำมากล่าวนี้เป็นลักษณะที่เชื่อกันว่าเป็นวัวชนชนิดดี ซึ่งจะเลือกกล่าวเพียงบางชนิดเท่านั้น โคอุสุภราช โคชนิดนี้นิยมเลี้ยงไว้ชน จัดว่าเป็นพระยาโคก็ได้ มีลักษณะที่สังเกตคือสีขาวปลอด หรือบางตำรากล่าวว่าชาติโคอุสุภราชนั้นสีแดงลายขาว โดยมีลายดังนี้คือ ตีนด่าง, หางดอก, หนอกพาดผ้า, หน้าใบโพ โคนิล โคชนิดนี้ถือเป็นโคพันธุ์ดีอีกชนิดหนึ่ง เชื่อกันว่าจะให้ลาภแก่ผู้เลี้ยง ลักษณะพิเศษคือมีเยี่ยวดำในวันพระ แต่ในวันอื่นๆ อาจจะไม่ดำ ส่วนสีของเท้าอาจจะดำหรือไม่ใช่ก็ได้ โคบิณฑ์น้ำข้าว เป็นโคสีขาวปลอด ลักษณะที่น่าสังเกตคือ เล็บยาว หางยาว เขาขาวเป็นมัน 3. ลักษณะดีตามสีตัว วัวทางภาคใต้มีสีต่างกันถึง 7 สี แต่สีที่สำคัญคือ ขาวปลอด, ดำนิล, แดง , ลาย (คือดำแซมขาว), ลังสาด (คือคอดำ หัวดำ ท้ายดำ ตรงกลางขาว) สีของวัวนี้ นอกจากจะบอกลักษณะดีชั่ว แล้วยังใช้เป็นชื่อเรียกวัวอีกด้วย เช่นวัวสีขาวเรียกอ้ายขาว สีดำเรียกอ้ายดำ เป็นต้น แต่เพื่อมิให้สับสนเพราะมีสีซ้ำกันเขาจึงบอกชื่อบ้านหรือชื่อเจ้าของเข้าไป ด้วย เช่นอ้ายขาวลุง หมายถึงวัวขาวบ้านทุ่งลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วภาคใต้ เพราะตลอดชีวิตการต่อสู้ของมันไม่เคยแพ้ มีแต่ชนะกับเสมอ และถือกันว่าเป็นโคพันธุ์อุสุภราชแท้ ลักษณะตามสีที่นิยมกันว่าเป็นวัวดีนั้นคือ 1. โหนดชาติใหญ่ คือโหนดหัวแดง 2. โหนดตีนขาว ซึ่งเรียกว่าลังสาดชนิดหนึ่งนั้น ถือว่ามีใจทรหดมาก 3. แดง คอกิ่ว หางตัด เขาลอม คือวัวสีแดง เหนียงคอสั้น หางสั้น นับว่าเป็นลักษณะพิเศษ 4. ตีนด่าง หางดอก หนอกพาดผ้า หน้าใบโพ คือวัวที่มีสีทั่วไปดำ ตีนดำแซมขาว หางดำแซมขาว โหนกขาวเหมือนเอาผ้าขาวพาดไว้และที่หน้ามีสีขาวเป็นรูปใบโพ ยอดใบโพขึ้น ถ้ายอดลงถือว่าลงไม่ดี วัวชนิดนี้ถือว่าจะนำโชคลาภและให้มงคล ใครเลี้ยงวัวพันธุ์นี้ไว้ประจำบ้านจะไม่มีภัยพิบัติ โจรผู้ร้ายไม่มารบกวน แต่ท่านห้ามฆ่าเพราะจะนำความพินาศฉิบหายอย่างใหญ่หลวงมาสู่บ้าน จะเลี้ยงไว้ชนก็ได้ดี เพราะมีน้ำอดน้ำทนมาก ลักษณะตามสีที่ถือว่าไม่ดีคือ 1. สีลันดา ได้แก่สีตัวแดง จมูกลาย ท่านถือว่าไม่รับเดิมพัน คือถ้าจะชนเอาเดิมพันกันแล้วต้องแพ้เขา แต่ถ้าชนกันตามธรรมดาไม่มีเดิมพันกลับชนได้ดีไม่ยอมแพ้ใครง่ายๆ เหมือนกัน ฉะนั้นท่านจึงกล่าวไว้ว่า "วัวลันดา ปลาโดงแดง อย่าแทงมาก" คืออย่าพนันให้มากนัก เพราะไว้ใจไม่ได้ กำลังได้เปรียบแท้ๆ อาจยอมแพ้เสียเฉยๆ ก็ได้ แต่ถ้าเป็นวัวลันดาหางดอกที่ภาษาปักษ์ใต้เรียกว่า "หางผ้าร้ายห่อทอง" (ผ้าขี้ริ้วห่อทอง) ก็กลับเป็นลักษณะดีไป 2. ดำหน้าโพ คือวัวดำแต่มีสีขาวเป็นรูปใบโพที่หน้า ท่านว่าใจเสาะไม่อดทนมักยอมแพ้เอาง่ายๆ นอกจากจะมีตีนด่าง หางดอก โหนกพาดผ้าด้วยเท่านั้นจึงจะดี ว่าถึงลักษณะไม่ดีแล้วใคร่จะกล่าวถึงขวัญและสิ่งไม่ดีอีกบางอย่าง จะขอกล่าวเฉพาะถึงขวัญที่ควรระวังไว้อย่างเดียว คือขวัญกระหนาบที่ลึงค์ ท่านถือว่าดุมาก เลี้ยงไม่เชื่องแม้แต่เจ้าของ ถ้ามันโกรธขึ้นมาก็จะขวิดถึงตายได้ ท่านจึงห้ามเลี้ยง เท่า ที่ทราบมีอยู่มากคือที่ อำเภอเมือง อำเภอท่าศาลา อำเภอหัวไทร อำเภอทุ่งสง อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอฉวาง อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนที่อื่นๆ ได้แก่ อำเภอควนขนุน อำเภอเขาไชยสน อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง อำเภอย่านตาขาว อำเภอห้วยยอด ตำบลนาวง ตำบลนาโยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง อำเภอสทิงพระ ตำบลม่วงงาม ตำบลหนองหอย ตำบลป่าขาด อำเภอนาทวี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นต้น เนื่อง จากวัวชนนำเงินนำทองให้เจ้าของปีละมากๆ จึงต้องเลี้ยงดูกันอย่างดี มีหญ้าน้ำให้กินอย่างอุดมสมบูรณ์ อาบน้ำขัดสีฉวีวรรณวันละ 2 หน ต้องฝึกหัดกำลังให้วิ่งทุกๆ เช้าเย็น และใช้ไม้ตีที่คอทุกวันเพื่อให้มีกล้ามเนื้อขึ้นทำให้คอแข็งแรงและให้ฝึกชน กับวัวอื่นๆ บ้าง แต่ไม่ถึงกับให้แพ้ชนะกันเช่นเดียวกับซ้อมมวย ผู้เลี้ยงจะต้องคอยดูแลอย่างดี มิให้ใครเข้าใกล้โดยเฉพาะคนฝ่ายตรงกันข้าม กลางคืนถ้ามียุงชุมจะให้นอนในมุ้งอย่างดี เรียกว่าให้อยู่ดีกินดีเหมือนหรือยิ่งกว่าปฏิบัติกับลูกเมียหรือพ่อแม่ของ เขาทีเดียว ยิ่งใกล้วันชนด้วยแล้วก็ยิ่งเลี้ยงดูแลพิทักษ์รักษาอย่างดีพิเศษขึ้นไปอีก เพราะอาจถูกฝ่ายตรงกันข้ามลอบวางยาหรือทำอาถรรพ์อย่างหนึ่งอย่างใดให้พ่าย แพ้ได้ ก่อนจะ ชนจะมีการเปรียบวัว คือนำวัวไปที่สนามวัวหรือที่ใดที่หนึ่งซึ่งกำหนดนัดหมาย เพื่อเปรียบดูวัวที่จะชนกันเหมือนกับการเปรียบมวย คือนำวัวไปยืนใกล้ๆ กัน เพื่อดูให้แน่ว่าตัวไหนมีส่วนได้เปรียบเสียเปรียบกันตรงไหน ถ้าเห็นว่าต่างก็ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันเท่าไรจึงตกลงชนกันได้ หรือของใครมีดีพิเศษถึงจะเสียเปรียบในรูปร่างส่วนสัดกันบ้างเขาก็ยอม เมื่อ เปรียบวัวกันจนเป็นที่ตกลงกันแล้วว่าจะชนกันได้ก็จะวางเงินเดมิพันกันไว้ มากน้อยแล้วแต่ตกลงกันว่า ถ้าฝ่ายใดไม่นำวัวของตนมาชนตามวันที่กำหนด จะต้องเสียค่าปรับครึ่งหนึ่งหรือทั้งหมดให้แก่ทางสนามและต้องมัดจำไว้ 30 เปอร์เซ็นต์ และแล้วก็จะกำหนดวันชน ซึ่งโดยทั่วทางสนามจะจัดรายการเอง วัวชนนี้เขามักกำหนดกันแน่นอนเหมือนการชกมวย และโดยมากมักกำหนดชนในวันอาทิตย์อาจจะทุกวันอาทิตย์หรือสองอาทิตย์ต่อ 1 ครั้ง วัวที่เปรียบกันได้คู่แล้วจะจัดเข้ารายการไม่เร็วกว่า 2-3 สัปดาห์ หลังจากได้เปรียบวัว ทั้งนี้เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวนั่นเอง ก่อน วันชนหนึ่งหรือสองวัน เขาจะเก็ยวัวไว้แต่เฉพาะในโรงวัวซึ่งสร้างขึ้นอย่างพิเศษสำหรับวัวตัวนั้น เท่านั้น วัวชนจะได้รับการเลี้ยงดูเป็นพิเศษ โดยเขาจะนำหญ้าและน้ำมาให้กินในโรงวัวนั้นเลย บางรายให้กินไข่ไก่ถึงวันละ 10-15 ฟองก็มี หรือไม่ก็จะพาออกวิ่งบ้างเดินบ้างในตอนเช้ามืดหรือในตอนเย็น เป็นการออกกำลังกาย และมีคนเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด ตลอดเวลาทั้งกลางคืนกลางวัน มีหมอวัวเสกหญ้าและน้ำให้กินเพื่อให้มีกำลังและช่วยขจัดปัดเป่าการกระทำคุณ ไสย มีการประพรมน้ำมนต์น้ำพร หมอบางคนจะมีกรวยทำด้วยใบตองหรือปลอกเขาซึ่งทำด้วยทองเหลืองหรือไม้ไผ่สวม เขาทั้งสองไว้ มีผ้ายันต์ ผ้าประเจียดผูกคอวัว ซึ่งจะถอดออกเมื่อจะปล่อยให้วัวชนกัน ในขณะที่อยู่ในพิธีนี้วัวดีบางตัวจะให้ฝันแก่เจ้าของตัวจะแพ้หรือจะชนะ ในวันชน เมื่อใกล้ถึงเวลาคือประมาณ 1-2 ชั่วโมง เจ้าของวัวจะนำวัวมาในห้องพักวัว (แต่ปัจจุบันนี้มักไม่ค่อยจะมีห้องพักวัวแล้วแต่นำออกจากโรงวัวเข้าไปในสนาม เมื่อถึงเวลา สมัยก่อนมีการแห่แหนวัวออกจากโรงวัวโดยมีคนถือฆ้องเดินตีนำหน้าและจะคลุมวัว ด้วยผ้าสี ดูแล้วเป็นที่เกรงขาม) ขณะที่นำวัวเข้าสนามนั้นจะมีพิธีทางไสยศาสตร์คือมีหมอวัวถือหม้อดินน้ำมนต์ เดินประพรมน้ำมนต์นำหน้า เจ้าของวัวจูงวัวตามหมอ พี่เลี้ยงหรือคนเลี้ยงวัวถือหญ้าน้ำซึ่งปลุกเสกแล้วเดินตามหลังวัวไป และต้องออกตามฤกษ์ยามดีมีชัยด้วย สนามชน วัวมักจัดทำไว้ถาวรเหมือนสนามมวย มีรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือเป็นวงกลม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อที่ด้วย อย่างไรก็ดีเนื้อที่ของสนามชนวัวมักมี 2-3 ไร่ เมื่อ ถึงเวลาชนหมอจะประพรมน้ำมนต์วัวแล้วเดินนำหน้า มีคน 2 คนจูงวัวตามหลัง ที่ต้องจูงสองคนเพราะจับปลายเชือกคนละข้าง เชือกนั้นยาวประมาณ 1 เมตร สอดเข้าไปในห่วงหวายที่ร้อยจมูกวัวไว้ (ห่วงหวายที่ว่านี้ชาวภาคใต้เรียกว่า "เทียนพราง" ) พอถึงกลางสนามคนหนึ่งจะปล่อยก่อน อีกคนหนึ่งจะดึงเชือกนั้นให้หลุดจากห่วงหวาย เวลาจะปล่อยเชือกนี้จะตีกลองสัญญาณ 2 ครั้งเพื่อได้ปล่อยวัวพร้อมกัน วัวทั้งสองจะได้เข้าชนกัน วัวบาง คู่กว่าจะแพ้ชนะกันอาจจะใช้เวลาเป็นชั่วโมง ทั้งนี้เพราะต่างตัวต่างฉลาด บางตัวมีวิธีการต่อสู้โดยแทงด้วยเขา บางตัวแทงแล้วบิด บางตัวขัดเขาแล้วงัด บางตัวเอาเขาเข้าฟัน บางทีดันเข้าข้างตัวของคู่ต่อสู้ ซึ่งชาวภาคใต้เรียกว่า "เอาเพลียง" หรือ "พาเพลียง" บางตัวขึ้นทับหรือขึ้นขี่ ชาวภาคใต้เรียกว่า "ขึ้นเหง" เป็นการตัดกำลังให้คู่ต่อสู้เหนื่อย อย่างไรก็ดีในการตัดสินแพ้ชนะมีกติกาของสนามไว้ดังนี้ | |
1. | ก่อน จะชนถ้าพิสูจน์ได้ว่าฝ่ายใดถูกยาหรือถูกกระทำ กรรมการอาจไม่ให้ชนและริบเงิน เพื่อรักษาชื่อเสียงของสนามและเพื่อไม่ให้สัตว์ทรมาน |
2. | ห้ามมิให้ทาน้ำมันหรือเมือกทุกชนิด ส่วนจะสวมเครื่องรางของขลังให้วัวก็แล้วแต่จะตกลงกันในวันทำสัญญา |
3. | เมื่อตีกลอง 2 ครั้งให้พาวัวเข้าชน โดยมีคนพาเข้าชน 2 คน |
4. | ให้พาวัวเข้าไปชนในลักษณะหน้ากระดานเขาหากัน จะแกล้งชักเชือกหรือตีวัวให้ตกใจไม่ได้ |
5. | ห้ามตีวัวฝ่ายตรงข้าม แต่วัวฝ่ายตัวเองให้ตีได้ |
6. | วัวที่ล้ม ถ้าไม่ลุกภายใน 5 นาทีถือว่าแพ้ ถ้าลุกก่อนให้ชนต่อไปได้ ถ้าลุกแล้วหนี กรรมการจะให้เวลา 5 นาที ถ้าไม่ชนถือว่าแพ้เด็ดขาด |
7. | ถ้าเขาคีบกันไม่หลุดภายใน 1 ชั่วโมงถือว่าเสมอ |
8. | ถ้าชนกันรั้วพัง วัวออกไปชนนอกรั้ว ทางสนามจะตีกลองให้นำวัวมาชนข้างใน วัวใครไม่เข้ามาถือว่าแพ้ |
9. | ขณะ ชนกัน ถ้าตัวใดกระโดดหนีออกนอกรั้วถือว่าแพ้เด็ดขาด ถ้าตัวชนะกระโดตามไปนอกรั้วต้องนำมาชนใหม่ภายใน 10 นาที ถ้านำเข้ามาไม่ได้ทั้งสองตัว ถือว่าเสมอกัน |
10. | ถ้าวัวร้างลากันไป โดยไม่แสดงว่าตัวไหนแพ้ชนะ ให้กรรมการตีกลอง 2 ที เพื่อให้ชนกันใหม่ |
11. | วัว ชนคู่ใดเกิดมีปัญหาด้วยประการใดก็ดี นอกเหนือไปจากกติกาของสนามหรือไม่ชัดเจนก็ดี ให้กรรมการปรึกษากัน 3 นาย ถือเสียงข้างมากเป็นการตัดสินเด็ดขาด |
12. | ผู้เล่นในสนามจะต้องยินยอมตามคำตัดสินของกรรมการ จะอุทธรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งมิได้ |
13. | เงินเดิมพันกรรมการจะถือไว้ ค่อยจ่ายให้แก่ผู้ชนะและแบ่งคืนให้แก่ผู้เสมอกัน ใครจะคัดค้านไม่ได้ |
14. | กรรมการหรือนายสนามชนวัวมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยในสนามและมีอำนาจห้ามผู้ที่มีความประพฤติไม่เรียบร้อยเข้าสนามได้มีกำหนด 3 เดือน |
กีฬา ชนวัวในภาคใต้ โดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราชกำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ในวันที่วัวชนชาวบ้านชาวบ้านชาวเมืองแทบทุกอาชีพจะแห่กันไปดูการชนอย่างหนา แน่นและการชนวัวในบางคราวมีติดต่อกันเป็นแรมเดือน จึงเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่ง เพราะว่าการพนันย่อมมีทั้งผู้ได้และผู้เสีย ด้วยเหตุนี้ถ้าหากไม่มีขอบเขตจำกัดเสียบ้าง ผลเสียในหลายๆ ด้านย่อมจะบังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะไม่เคยมีที่ใดพอเป็นประจักษ์พยานได้ว่าการพนันนำมาซึ่งความสงบสุขและ ความรุ่งเรือง |
1 comments:
อาหารวัวชน ซี.พี. 989 FB 10 กก.
มีจำหน่ายที่
ซำเฮง นาสาร
15 ถ.วิเวก ต.นาสาร อ.บ้านนาสาร สุราษฎร์ธานี
( ใกล้ ธนาคารออมสิน ) โทร 061 175 5577
บ้านนาฟาร์มชอพ
354/12 ม.2 ต.บ้านนา อ.บ้านนาเดิม สุราษฎร์ธานี
( ข้างโรงพยาบาลบ้านนาเดิม ) โทร 095 770 9995
Post a Comment