Monday, August 29, 2011

วัวไทยมีลักษณะเป็นอย่างไร

ประเทศไทยจัดเป็นประเทศอะไร


[ ขยายดูภาพใหญ่ ]
ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม ประชาชนประมาณร้อยละ ๘๐ ประกอบอาชีพทางการทำไร่ทำนา การเลี้ยงวัวควายเป็นส่วนประกอบของการกสิกรรม เพราะได้ใช้แรงงานจากวัวควายช่วยในการทำงานต่างๆ นับตั้งแต่ไถ พรวน ฉุดระหัดน้ำ นวดข้าว สีข้าว ลากเข็น ตลอดไปจนถึงการขนส่งผลิตผลจากท้องถิ่นห่างไกล ไปสู่ถนนหลวงหรือตลาด เนื่องจากชาวนาไทยมีที่ดินน้อย เฉลี่ยเพียงครอบครัวละ ๑๐-๒๐ ไร่หรือน้อยกว่านั้น ในบางภาค การใช้วัวควายทำงานในไร่นาจึงเหมาะสม เพราะสะดวกทีจะทำเมื่อใดก็ได้ และแล้วเสร็จได้ในเวลาไม่นาน วัวหรือควายคู่หนึ่งไถนาได้วันละ ไม่ต่ำกว่าหนึ่งไร่ ทั้งยังประหยัดเงินกว่าการจ้างรถไถนาทำงาน ซึ่งต้องเสียค่าจ้างในอัตราสูง การใช้วัวควายไถนาทำให้ได้ใช้แรงงานในครอบครัวให้เป็นประโยชน์ช่วยให้มีชีวิตชีวา และเสริมสร้างวิญญาณแห่งความรักความผูกพัน ในงานอาชีพของกสิกร ให้แก่สมาชิกของครอบครัว
การเลี้ยงวัวควายเพื่อช่วยในการทำไร่ทำนาในประเทศไทยนั้น โดยทั่วไป นิยมเลี้ยงกันเพียงครอบครัวละสามตัวบ้าง ห้าตัวบ้าง แต่เมื่อรวมกันเข้าก็เป็นจำนวนสิบล้านตัว เป็นวัวและควายอย่างละประมาณครึ่งต่อครึ่งอาหารของวัวควายเหล่านี้ ได้แก่ หญ้าที่ขึ้นอยู่ตามคันนาริมถนน และท้องทุ่งที่ว่างจากการทำไร่ทำนา วัวควายจะถูกต้อนออกไปหากินในยามเช้า และกลับเข้าคอกเมื่อยามพลบ คอกวัวคอกควายมักอยู่ใกล้บ้านหรือใต้ถุนบ้าน เมื่อถึงหน้าเพาะปลูกน้ำหลาก ท้องทุ่งท้องนาเต็มไปด้วยกล้าข้าวและพืชผล ยามนี้วัวควายต้องอาศัยฟางและหญ้าแห้งที่เจ้าของเก็บกองไว้ให้ ตั้งแต่ปลายฤดูเพาะปลูกปีที่ผ่านมา เป็นอาหารเสริมไปจนกว่าจะเก็บเกี่ยวพืชผลเสร็จ วัวควายจึงเป็นอิสระในท้องทุ่งอีกวาระหนึ่ง ซึ่งในระยะนั้นอาหารวัวควายจะมีบริบูรณ์วัวควายจึงสืบพันธุ์กันในระยะนี้เป็นส่วนมาก

วัวไทยมีลักษณะเป็นอย่างไร
[ ขยายดูภาพใหญ่ ]
วัวไทย หมายถึง วัวที่มีพื้นเพกำเนิดในประเทศไทย มีเลี้ยงกันกระจายทั่วไปในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย
วัวไทยเป็นวัวขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับวัวพันธุ์อื่น ตัวผู้โตเต็มที่มีน้ำหนักโดยเฉลี่ย ๓๐๐-๓๕๐ กิโลกรัม ตัวเมียโตเต็มที่มีน้ำหนักเฉลี่ย ๒๐๐-๒๕๐ กิโลกรัม วัวไทยมีกระดูกเล็บบอบบาง ในหน้ายาวหน้าผากแคบ ตาขนาดปานกลาง ขนตามใบหน้าสั้นเกรียน จมูกแคบ ใบหูเล็กกะทัดรัด ปลายหูเรียวแหลมโดยทั่วไปมีเขาสั้นถึงยาวปานกลาง ตั้งแต่ ๑๕-๔๕ เซนติเมตร ตัวเมียมักมีเขาสั้นหรือไม่มีเขา เขามีลักษณะตั้งขึ้นโง้งงุ้มเข้าหากัน และยื่นไปข้าหน้าเล็กน้อย ลำคอบอบบาง ใต้คอมีเหนียงคอเป็นแถบลงไปถึงอก ส่วนต่อระหว่างคอและไหล่มองเห็นได้ชัด เหนือไหล่ของวัวตัวผู้มีก้อนเนื้อ เรียกว่า โหนกหรือหนอก สันหลังลาดขึ้นจากโหนกไปสู่บั้นเอว แล้วลากลงตามบั้นท้ายไปสู่โคนหาง ขายาว รูปร่างค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับวัวเนื้อพันธุ์ยุโรป พื้นท้องจากส่วนหน้าคอดกิ่วไปสู่ส่วนหลัง วัวตัวเมียมีเต้านมเล็กเป็นรูปฝาชี ให้นมน้อย
วัวไทยมีขนสั้นเกรียนทั่วตัว ขนมีสีต่าง ๆ ตั้งแต่สีดำ สีน้ำตาล สีน้ำตาลอ่อน สีฟาง สีเทาไปจนถึงสีลาย สีที่พบเห็นบ่อย ๆ คือ สีน้ำตาลอ่อน และสีดำ ขนใต้ท้องและซอกขามักมีสีจางกว่าส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
โดยทั่วไป วัวไทยมีนิสัยขี้ตื่น ปราดเปรียวกว่าวัวพันธุ์อื่น แต่ถ้าเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด อาจเชื่องมากเหมือนกัน แม่วัวไทยเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด อาจเชื่องมากเหมือนกัน แม่วัวไทยเลี้ยงลูกดีแต่ให้นมน้อย เวลาคลอดใหม่ ๆ มักหวงลูกมาก และอาจมีนิสัยดุร้ายกับสุนัขหรือคนที่ไม่รู้จัก
ลูกวัวไทยแรกเกิดมีน้ำหนักประมาณ ๑๔-๑๕ กิโลกรัม ลูกวัวตัวโตกว่าลูกวัวตัวเมีย
โดยทั่วไป ลูกวัวจะดูดนมแม่จนถึงอายุ ๘ เดือน จึงจะถูกแยกฝูง เพราะแม่ให้นมน้อยหรือหยุดให้นมและลูกวัวเริ่มรู้จักหาหญ้ากินเอง หากปล่อยลูกวัวไว้กับแม่ ลูกวัวตัวที่มีขนาดใหญ่โต อาจผสมพันธุ์กับแม่ของตัวเอง ทำให้ได้ลูกขนาดเล็กและอ่อนแอ หรืออาจผสมกับลูกวัวสาว อายุยังไม่เต็มวัย อาจเกิดผลเสียได้เช่นกัน

ควายไทยมีลักษณะเป็นอย่างไร
[ ขยายดูภาพใหญ่ ]
ควายไทยจักเป็นควายที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในบรรดาควายเลี้ยงแถบเอเชีย ควายเลี้ยงมีสองประเภทใหญ่ ๆ คือ ควายแม่น้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นควายพันธุ์อินเดีย จัดเป็นควายพันธุ์นม และควายปลัก ซึ่งรวมควายไทยและควายงานในประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย พม่า เขมร ควายไทยมีเลี้ยงกันในทุกภาคของประเทศไทย แต่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังรายละเอียดจำนวนควายในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย
บางคนเรียกควายว่า กระบือ เข้าใจว่ากระบือเป็นคำต่างประเทศ ภาษาเขมรเรียกควายว่า กระบือหรือกรบาย ชาวฟิลิปปินส์เรียกกระบือว่าคาราบาว และชาวมาเลเซียและอินโดนิเซียเรียกว่า เคอรเบา
ควายไทยมีขนาดใหญ่กว่าวัวประมาณสองเท่าควายตัวผู้โตเต็มที่มีน้ำหนักเฉลี่ย ๔๐๐-๕๐๐ กิโลกรัม ควายมีลำตัวใหญ่ กว้างและลึก มีท้องกายโตแสดงให้เห็นความจุ ท้องย้อย ปั้นท้ายลาด ขายาว มีกระดูกใหญ่ หัวมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับขนาดตัว ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีเขายาวโค้ง งองุ้มเข้าหากันไป ด้านหลังเขาควายมีรูปร่างแบน ปลายเขาเรียวแหลม มองดูน่ากลัว ควายไทยมีสองสี คือ ควายสีเทาหรือดำ และความเผือกซึ่งมีสีขาว
ควายมีต่อมเหงื่อน้อยกว่าวัว จึงถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกายได้ไม่ดีเท่าวัว เวลาอากาศร้อน ควายชอบนอนแช่ปลักโคลน เพื่อเป็นการผ่อนคลายความร้อนของร่างกาย ถ้าควายโดยอากาศร้อนนาน ๆ จะแสดงอารมณ์หงุดหงิด เปลี่ยว และดุร้าย จนอาจทำร้ายผู้เข้าใกล้ได้หากไม่ระมัดระวัง ควายมักใช้เขาอันยาวโง้งเหวี่ยงแทงเสยไปด้านหลังด้วยความแรง แต่โดยทั่วไป ควายเป็นสัตว์เลี้ยงที่เชื่องและเชื่อฟังผู้เลี้ยง จึงฝึกใช้งานได้ง่า
ลูกควายแรกเกิดมีน้ำหนักประมาณ ๒๕-๓๕ กิโลกรัม ตัวผู้โตกว่าตัวเมีย แม่ควายให้นมพอเลี้ยงลูกนมควายมีไขมันสูง ๗-๙ เปอร็เซ็นต์สูงกว่านมวัวซึ่งมีไขมันเพียง ๓-๔ เปอร์เซ็นต์ แม่ควายเลี้ยงลูกเก่ง ลูกควายจะดูดนมไปจนกว่าแม่จะหยุดให้นม จึงเริ่มรู้จักเล็มหญ้ากินเอง ควายสาวมีอายุผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่ ๒-๓ ปี ขึ้นไป มักพบบ่อย ๆ ว่า ควายตัวเมียให้ลูกควายตัวแรกเมื่ออายุ ๔-๕ ปี แม่ควายอาจให้ลูกได้ถึง ๑๐ ตัว ตลอดชีวิต แต่จะให้ลูกที่แข็งแรงที่สุดเมื่อแม่ควายมีอายุระหว่าง ๘-๙ ปี ซึ่งควรให้ลูกเป็นตัวที่ ๔ หรือ ๕ แม่ควายที่ได้รับอาหารและการเลี้ยงดูดี อาจให้ลูกปีละตัว แต่โดยทั่วไปจะให้ลูกสองตัวในสามปี ควายตัวผู้เริ่มใช้ผสมพันธุ์ตั้งแต่อายุ ๓ ปีขึ้นไป
แม่ควายจะตกไข่ และแสดงอาการเป็นสัดครั้งหนึ่งในรอบ ๒๒ วัน เมื่อทำการผสมพันธุ์ระยะนี้ แม่ควายจะตั้งท้อง เวลาอุ้มท้องของแม่ควายนานประมาณ ๓๑๐ วัน แต่ช่วงการตกลูกหนึ่งตัว อาจกินระยะหนึ่งปีครึ่งขึ้นไป ควายตัวผู้หนึ่งตัว ควรคุมฝูงตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์ประมาณ ๓๐-๔๐ ตัว ต่อหนึ่งฤดูผสมพันธุ์
ควายที่ถูกฆ่าและชำแหละแต่งซากเรียบร้อยแล้ว น้ำหนักซากประมาณ ๔๕-๕๐ เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักก่อนฆ่า เนื้อควายมัดกล้ามเนื้อค่อนข้างใหญ่ จึงดูหยาบกว่าเนื้อวัว เนื้อควายมีสีคล้ำกว่าเนื้อวัว ซึ่งคุณภาพของเนื้อจะไม่แตกต่างกัน หากวัวและควายได้รับอาหารและการเลี้ยงดูเหมือน ๆ กัน

0 comments:

Post a Comment