Friday, July 20, 2012

วัวชนใต้


วัวใต้ 
                    ฝน โปรยรับงานเดือนสิบแต่เช้าวันต้นเทศกาล ดังคำท่านว่า “คนมีวาสนาทำบุญฝนตก ยาจกทำบุญแดดออก” ด้านคนต่างถิ่นก็เข้าถึงภาวะที่ เอาแน่เอานอนไม่ได้ ของอากาศคาบสมุทรภาคใต้ไปพร้อมกัน
ชนวัว เป็นส่วนหนึ่งของงานบุญ ? คงไม่ใช่เรื่องจะมาสอบถามกันเวลานี้ (มิฉะนั้นจะต้องลากไปถึงว่า “บุญ” คืออะไร) การชนวัวดำรงอยู่ควบคู่กับจังหวัดนครศรีธรรมราชมาช้านาน ในฐานะกีฬาพื้นบ้าน ในเทศกาลบุญเดือนสิบ ตรุษสงกรานต์ ปีใหม่ ถือว่าขาดวัวชนไม่ได้
ช่วง เทศกาลบุญเดือนสิบ (ราวปลายเดือนกันยายน) สนามชนวัวหรือบ่อนวัวบ้านยวนแหลของอำเภอเมือง จัดมหกรรมชนวัวต่อเนื่องกันเจ็ดแปดวัน เปิดฉากจากสาย ๆ ว่ากันไปจนใกล้ค่ำจึงแล้วเสร็จ ๑๘-๒๐ คู่ มีให้ดูกันจุใจขนาดนี้ บริเวณรอบ ๆ สนามชนวัวจึงกลายเป็นคอกขนาดใหญ่ให้โคถึกกว่า ๒๐๐ ตัวพักแรมรอลงสนาม พร้อมคนเลี้ยงวัว หุ้นส่วนชีวิตที่กินนอนด้วยกันนานแรมเดือน
ชนวัว ช่วงเทศกาลจัดว่าเป็นนัดพิเศษ วัวเก่งก็มีวัวใหม่ก็มาก เนื่องจากตลอดปี จังหวัดนครศรีธรรมราชมีชนวัวแทบทุกสัปดาห์ หมุนเวียนกันไปในหกสนามของอำเภอต่าง ๆ โดยแต่ละสนามได้รับอนุญาตให้จัดเดือนละครั้ง
หากต้อง การขยายภาพความนิยมใน “กีฬา” ชนิดนี้ ให้กว้างขึ้นจากเมืองคอน จะเห็นว่าพัทลุง ตรัง สงขลาก็มีบ่อนชนวัวของตัวเองจังหวัดละสองสามสนาม รวมเป็น ๒๒ สนามทั่วภาคใต้ในขอบเขตวัฒนธรรมชนวัว บางจังหวัดแม้ไม่มีบ่อนชนวัวเป็นการถาวร แต่ก็นิยมเลี้ยงไว้ขายและชนต่างถิ่น
วัวดีที่สุดของภาคใต้ขณะนี้ นักเลงวัวยอมรับว่าเป็นวัวของบ้านนาสาร สุราษฎร์ธานี ซึ่งไม่มีสนามชนวัวของตัวเอง
นอกจาก นี้ การที่โคถึกวัยคะนอง ช่วงอายุระหว่าง ๕-๑๕ ปี ไม่อาจจะลงสนามได้ทุกบ่อยเหมือนนักมวยงานวัด ชนครั้งหนึ่งต้องพักรักษาตัวไปสองสามเดือน บางตัวต้องหกเดือน จึงติดคู่ชนครั้งใหม่ อาจเป็นตัวอย่างทางสถิติ แสดงให้เห็นว่าเรามีวัวชนหมุนเวียน อยู่ในลานทรายอันมหึมามากมายเพียงใด
วัวใต้
หากคุณ นั่งรถผ่านย่านที่มีรถเก๋ง รถปิกอัป มอเตอร์ไซค์จอดเต็มสองฟากถนนเป็นแนวยาว เก้าในสิบที่เจอก็ควรเป็นสังเวียนชนวัว ที่ซึ่งเงินสด ๆ สะพัดวันละเหยียบ ๑๐ ล้านบาท หากเป็นวัวดีของภาคใต้ค่าหัว ๓-๔ แสนบาทโคจรมาเจอกันด้วยแล้วบ่อนแทบปริ ค่าผ่านประตูรอบเดียวอาจเก็บได้ถึง ๓ ล้านบาท เหมือนที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์จำติดตาว่า “ใบห้าร้อยยัดใส่หลัว…ไม่ต้องนับ”
เรามักจะ เห็นวัวชนต่อเมื่อมันถูกจูงเข้าสนาม หรือยามออกเดินถนนกับคนเลี้ยง ตามฐานะความสัมพันธ์ ระหว่างวัวชนกับคนเลี้ยงหรือเจ้าของ ทว่าระหว่างหัวเชือกทั้งสองข้าง คือในมือคนจูงวัวข้างหนึ่งกับจมูกวัวข้างหนึ่ง ยังประกอบด้วยสายสัมพันธ์แวดล้อมอื่น ๆ ที่มองไม่เห็นของ “สังคมชนวัว” ซึ่งควรแก่การสนใจไม่น้อย นับตั้งแต่ครอบครัวคนเลี้ยงวัว, เถ้าแก่ (นักธุรกิจ) เจ้าของวัว, นายสนามชนวัว, ผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดชนวัว, นักพนัน, พ่อค้าแม่ค้า, คนให้เช่าที่พักวัว, ผู้อุปถัมภ์สนาม, นักการเมืองท้องถิ่น นอกจากนี้ยังอาจหมายรวมถึง ขนบนิยมแฝงเร้นว่าด้วยการเสี่ยงสู้ ความต้องการเอาชนะ ไว้เหลี่ยมไว้เชิง ไม่ยอมเสียเปรียบของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาศัยวัวชนเป็นตัวแทน

0 comments:

Post a Comment