Wednesday, September 7, 2011

เบื้องหลังงานวิจัย หัวเชือกวัวชน

หนังสือประกอบการเขียน
    วัวชนกับคนใต้ จรัญ จันทลักขณาและผกาพรรณ สกุลมั่น บรรณาธิการ
    "ชนวัว" สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ โดยวิเชียร ณ นคร

                  ******************


อ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์


เบื้องหลังงานวิจัย หัวเชือกวัวชน

    "ชนเหล่าใด ใครก็ตามที่ยิ่งมีปฏิกิริยาตอบโต้อันแข็งกร้าว แต่ขาดเหตุผลในเชิงวิชาการ ต่อการค้นพบโดยผ่านการพิสูจน์ซ้ำ จนตกผลึกในงานศึกษาวิจัยเรื่องหัวเชือกวัวชนมากเท่าใด ก็จะยิ่งเป็นการชี้ชัดว่า "ข้อค้นพบ" ในงานวิจัยชิ้นนี้มีความเป็นจริงมากขึ้นเพียงนั้น"
     อาคม เดชทองคำ กล่าวประโยคนี้ไว้ที่ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช ที่เขาสอนเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๓ -- เป็นช่วงเวลาที่ตัวท่านเองต้องหลบไปยังที่สงบ แลปลอดภัยเป็นครั้งคราว รอให้เรื่องคลี่คลาย
      วัวชนนั้นเกี่ยวกับที่มามีผู้เห็นแยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกมีความเห็นว่า การเลี้ยงวัวไว้ชนกัน เป็นแบบฉบับของภาคใต้โดยเฉพาะ มิได้เอาแบบอย่างจากที่อื่นทั้งในและนอกประเทศ "จังหวัดในภาคใต้ที่นิยมเลี้ยงก่อนใครอื่น คือจังหวัดนครศรีธรรมราช และพัทลุง แล้วได้กระจายไปตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภาคใต้และบางจังหวัดในภาคกลาง และภาคเหนือในเวลาต่อมา"


    ขณะที่ผู้รู้บางท่านเสนอว่า ชาวไทยภาคใต้ น่าจะได้กีฬาประเภทนี้มาจากพวกโปรตุเกส กล่าวคือในสมัยพระเจ้าเอมมานูเอลแห่งโปรตุเกส ได้แต่งทูตเข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับสยามใน พ.ศ. ๒๐๖๑ ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา นับเป็นฝรั่งตะวันตกชาติแรก ที่เดินเรือเข้ามาค้าขายกับสยาม และได้ทำการค้าขายในสี่เมืองรวมทั้งนครศรีธรรมราช นอกจากทำการค้าแล้ว ชาวโปรตุเกสบางพวกยังได้เผยแพร่ขนบธรรมเนียมไว้หลายอย่าง เช่น การติดตลาดนัด การทำเครื่องถม และการชนวัว เป็นต้น
    งานวิจัยว่าด้วยวัวชน การชนวัวก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายหน หลากหลายจุดประสงค์ของการวิจัย แต่ก็ไม่เคยมีคนใต้เดือดร้อน กระทั่งเมื่อชิ้นงาน "หัวเชือกวัวชน" ที่ อาคม เดชทองคำ เสนอเป็นส่วนหนึ่งของชุดงานวิจัย "โครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้กับการพัฒนา" โดยศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นหัวหน้าโครงการ "กลายเป็นข่าว"
    เมื่อ "ส่วนควบ" ของงานชิ้นนี้ขุดเอากำพืดพื้นผิว (surface trait) และกำพืดซ่อนเร้น (sources trait) เฉพาะตัวของประชาคมปักษ์ใต้กลุ่มหนึ่งมาพิสูจน์ซ้ำอีกครั้ง เป็นต้นว่า 
     คนปักษ์ใต้มีท่าทีแข็งกร้าว ตรงไปตรงมา มีความเชื่อมั่นในตนเองและมีอัตตาสูง ทำตัวเป็นหัวเรือใหญ่ ชิงการนำ ดิ่งเดี่ยว เสี่ยงสู้ ไม่ยอมรับนับถือหรือนิยมยกย่องใครง่าย ๆ ไม่ยอมเสียเปรียบเสียรู้ใครง่าย ๆ ชอบศึกษาหาความรู้เพื่อจะได้รู้เท่าทัน มีท่าทีไว้เชิง และไม่เปิดตัวก่อน เมื่อพบคนแปลกหน้า นิสัยการบริการต่ำ ค่อนข้างเฉียบขาด รักใครรักจริง เกลียดใครเกลียดจริง เป็นคนรักหมู่คณะของตน
    นอกจากนี้ยังกล่าวถึง พฤติกรรมเบี่ยงเบนของผู้ที่ใกล้ชิดกับสังเวียน และผู้ประกอบการวัวชนโดยเฉพาะ คือ ความชื่นชอบคนที่เป็นนักเลง (ตามนิยามของพวกเขา) ซึ่งให้ความสำคัญต่อความกล้าได้ กล้าเสีย ความเฉียบขาด ไม่ยอมแพ้ใคร และไม่รู้จักแพ้ เป็นต้น บุคลิกภาพเหล่านี้ ตามสายตาของคนต่างกลุ่ม ต่างวัฒนธรรม อาจมีความรู้สึกว่าเป็นคนแข็งกระด้าง ปกครองยาก ดุ ดื้อรั้น ไม่น่าไว้วางใจ-- "คบยาก"
    ทั้ง ๆ ที่โจทย์วิจัยหรือคำถามหลักของ "หัวเชือกวัวชน" คือ การหาสายสัมพันธ์ ระหว่างวัวชนกับผู้เลี้ยงวัวชน และกลุ่มเครือข่ายเป็นย่านใยในวัฒนธรรมการชนวัว ทั้งในบ่อนและนอกบ่อน จึงได้กำหนดให้การชนวัว เป็นสัญลักษณ์ในการอธิบายทั้งบุคลิกภาพพื้นผิว และบุคลิกภาพซ่อนเร้น และประโยชน์ที่เป็นผลพวงคือ ความพยายามจะหาคำตอบให้แก่คำถามที่ว่า การชนวัวในฐานะ ที่เป็นส่วนหนึ่งของคติชาวบ้านปักษ์ใต้ (นครศรีธรรมราช) มีนัยสัมพันธ์กับโครงสร้าง และพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้ กับการพัฒนาหรือไม่อย่างไร
    สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ และตัวผู้วิจัยจึงตั้งข้อสังเกตว่า การที่มีข่าววิจารณ์อย่างรุนแรงนั้น สาเหตุใหญ่เกิดจากผู้วิจารณ์ ยังไม่ได้อ่านตัวงานวิจัยโดยตรง ทำให้เกิดความสับสน เช่น
    - เมื่อพูดคำว่า "การไว้เหลี่ยมไว้เชิง" ก็จะมีส่วนขยายด้วย "ภายใต้กติกา" จึงไม่ได้หมายถึงการใช้เล่ห์เหลี่ยม
    - ที่ว่า "แม้ไม่ได้เปรียบ แต่ต้องไม่เสียเปรียบ" ไม่ได้หมายถึง ชอบเอาเปรียบผู้อื่น แต่ไม่ยอมเสียรู้เสียเชิงผู้อื่นง่าย ๆ 
      ต่อไปนี้นักวิจัยทั้งสองท่านจะเปิดเผยถึงประเด็นที่อาจยังค้างคาใจ พร้อม ๆ กัน สารคดี :  ที่ว่าสังคมการชนวัว สร้างนักเลงปักษ์ใต้ขนานแท้ หมายความว่าอะไร

ศ. สุธิวงศ์ :  โดยวัฒนธรรมพื้นบ้านหมายถึง คนที่มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะ รักความยุติธรรม ขนาดว่าลูกตัวเองผิดก็ลงโทษ นักเลงเขาจะไม่เอาเปรียบใครเด็ดขาด ยกคนที่ควรยก ข่มคนที่ควรข่ม ไม่ใช่นักเลงหัวไม้ ไม่ใช่อันธพาล ซึ่งบอกได้เลยว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีนักเลงเช่นในอดีตแล้ว ถ้ามีใครมาถามผมว่า นักการเมืองปักษ์ใต้มีใครบ้างเป็นนักเลง ตอบได้ว่าไม่มี ในทุกวงการ มีการเอารัดเอาเปรียบกัน มากกว่ารู้แพ้รู้ชนะ ถึงได้ว่าเป็นวัฒนธรรมเก่า ที่เราเพรียกหายังไง ถ้ามันกลับคืนมาจะเป็นพลัง เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน หรือการพึ่งตนเอง

สารคดี :  จะไม่ถือว่าเป็นพวกโหยหาแต่หนหลัง (nostalgia) กับอดีตที่ย้อนกลับคืนมาไม่ได้หรือ

ศ. สุธิวงศ์ :  ไม่มีไม่ได้หมายความว่า ทำให้เกิดขึ้นใหม่ไม่ได้ แต่หมายถึง เราต้องเริ่มกลับไปหานิยามความคิดแบบเก่า นักเลงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ที่มีผลต่อการพัฒนา ปัญหาอยู่ที่ว่า ถ้าเราเอามาใช้ในทางที่กลาย ความหมายเป็นนักเลงอันธพาลก็เสีย คนไม่อาจเข้าใจลึกลงไป ในส่วนที่เป็นส่วนดี เราอยากให้เห็นว่ารากฐานของการเล่นวัวชนเป็นสิ่งดี
    ทั้งหมดนี้เหมือนน้ำใสปนอยู่ในน้ำขุ่น แต่พอตอนหลังน้ำขุ่นมันมากกว่า ทำอย่างไรจึงกรองเอาน้ำใสออกมาใช้ประโยชน์ เอาน้ำขุ่นทิ้งไป ที่พูดเรื่องนี้เพราะของดีมันมีอยู่แล้วในอดีต จึงง่ายที่จะนำกลัมา

สารคดี :  การเอาชนะกันของวัวชน มีความพิเศษอย่างไร เมื่อเทียบกับไก่ชน ปลากัดซึ่งภาคไหน ๆ ก็มีเล่น

******************************


อ. อาคม เดชทองคำ

อ. อาคม :  วัวชนบ่งชี้ถึงความเพียรพยายามที่จะเอาชนะ เด่นชัดกว่าอย่างอื่น ต้องเลี้ยงเป็นปี ๆ จึงได้ชน คนเลี้ยงใช้มากกว่าสองคนขึ้นไป ไก่ชนเลี้ยงคนเดียว สามเดือนก็ได้ชน ชนวัวมีความยิ่งใหญ่ของเครือข่ายสายสัมพันธ์
    เวลาชนะแต่ละครั้ง วัวชนมีวิธีการแสดงออกถึงชัยชนะที่ยาวนาน ยิ่งใหญ่และเป็นทางการกว่า พอชนะก็รู้ได้เลยว่า จะต้องมีวัวอื่นมาเทียบเคียงเป็นคู่ชนคราวต่อไป

ศ. สุธิวงศ์ :  ชนวัวมีกลุ่มผู้เล่นกว้างขวางกว่า คนที่เล่นก็ต้องมีระดับสูงกว่าด้วย กัดปลาชนไก่อยู่ในวงที่จำกัด กระบวนการจัดการไม่ซับซ้อน วัวชนต้องเตรียมการเป็นพิธีรีตอง มีกลุ่มจัดการที่ชัดเจน แล้วฐานของวัฒนธรรมการชนวัว มันมีส่วนร่วมสัมพันธ์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ถ้านักการเมืองสามารถประสานกับคนกลุ่มนี้ได้ ก็นับว่าเป็นฐานคะแนนเสียง ที่มีความสำคัญมากพอสมควร

สารคดี :  เท่าที่ทราบ ชนวัวเป็นเกมที่ต่อสู้และตัดสินกันอย่างยุติธรรม ไม่เคยมีการร้องเรียนต่อทางสนาม ทำไมอาจารย์จึงไม่ชูบุคลิกนี้ของคนใต้ แต่กลับเน้นเรื่องไม่ยอมถูกใครเอาเปรียบ
อ. อาคม :  แน่นอน... ถ้าใครมามอบความอยุติธรรมให้เขา เขาก็จะถามหาความยุติธรรม ดูตัวอย่างได้จากการเช็ดล้างก่อนชนวัว ความจริงอาจเป็นแบบนั้น แต่เราใช้ถ้อยคำที่ครอบคลุมไปไม่ถึง ไม่เจตนาจะเสนอแต่ในแง่ลบอย่างเดียว

สารคดี :  ถึงขณะนี้อาจารย์ยังยืนยัน ที่จะตีความบุคลิกภาพของคนใต้ ในแบบเดิมหรือ
อ. อาคม :  ผมยังยืนยันการตีความเดิม  แต่เพียงในกรอบของวัวชนหกบ่อนทั่วนครฯ เท่าที่ศึกษาเท่านั้น เมื่อข้อมูลเป็นอย่างนี้จะตีความเป็นอื่นไม่ได้ แต่ก็ไม่มีใครอธิบายตรงนี้ได้ด้วยข้อมูลล้วน ๆ ต้องมีความเป็นส่วนตัวเข้าไปบ้าง แต่คนอ่านต้องวินิจฉัยได้ว่า ระหว่างความจริงที่ปรากฏ กับอคติของผู้ตีความอะไรมากกว่าใน ๑๐ ส่วนเป็นข้อเท็จจริงเสีย ๘ ส่วนก็ถือเป็นปรกติวิสัยของงานวิจัย
ศ. สุธิวงศ์ :  บุคลิกภาพนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานวิจัย ซึ่งไม่ใช่เรื่องของกรรมพันธุ์ แต่เป็นเรื่องการเรียนรู้ ได้คุ้นเคยอยู่กับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นลักษณะทั้งหลายเหล่านี้ ก็มาอยู่ในนักพนันวัวชน หรือคนใกล้ชิดในเครือข่าย เรื่องหัวเชือกวัวชน ก็ไปตอบคำถามของคนทั้งภาคใต้ไม่ได้

สารคดี :   จุดดีด้านอื่น ๆ ของการเลี้ยงวัวชนมีอะไรบ้างครับ
ศ. สุธิวงศ์ :  จุดดีทางสรีระหรือพัฒนาสายพันธุ์วัวชน ไปสู่การเลี้ยงวัวเพื่อกิจกรรมอื่น การที่เขาทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับวัวชน นับว่าฉันทะ วิริยะเกิดขึ้น หรือการที่วัวชนสามารถสร้างเครือข่ายชาวบ้าน ก็นับว่าเป็นผลดี เขารู้สึกว่านี่เป็นวัฒนธรรมของเขา

สารคดี :  นอกจากที่กล่าวแล้ว ข้อสรุปที่ได้จากงานวิจัยของอาจารย์อาคมคืออะไร
อ. อาคม :  ต้องดูจากคำถามวิจัยของเรื่อง คือเป็นการค้นหาโครงสร้าง พลวัตของกลไกในท้องถิ่นว่ามันเกิดขึ้น ดำรงอยู่ในลักษณะใด โดยใช้วัวชนเป็นเครื่องมือ ผมค้นพบคนกลุ่มหนึ่งในนครศรีธรรมราช ซึ่งกลไกโครงสร้างส่วนนี้มีความแข็งแกร่ง ยึดโยงกันเหนียวแน่นในแวดวงตัวเอง โดยตัวบ่งชี้ในการอธิบาย ในที่นี้หมายถึงคติหรือตาหนาว่า ต้องทำอย่างนี้ถึงเอาชนะได้ ถ้าเลี้ยงวัวแบบปล่อยปละละเลย ไม่มีทางเอาชนะ โดยเฉลี่ยคนกลุ่มนี้ เป็นคนชอบเอาชนะ โดยใช้วัวเป็นสัญลักษณ์ตัวแทน แล้วคนกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว แต่โยงกับครอบครัว เพื่อนบ้าน ซึ่งคนกลุ่มอื่น แม้ไม่ชอบการชนวัวแต่ก็ไม่ปฏิเสธ

     เมื่อพบกลไกอย่างนี้ คนใต้มีนิสัยทางลึกแบบนี้ ถ้าคุณจะพัฒนา จะมีนโยบาย และท่าทีต่อคนกลุ่มนี้อย่างไร จะสั่งการจากบนลงล่างอีกหรือ หรือจะเริ่มต้นจากหารือร่วมกัน เพื่อจะบอกว่าคุณมีเกียรติยศศักดิ์ศรีเท่ากัน ไม่มีใครเป็นนายใครเป็นไพร่ แต่อย่างนี้ส่วนราชการไม่นิยมกระทำ เสียเวลา... รำคาญจะหารือกับชาวบ้าน ชาวบ้านมันตั้งข้อสังเกตทักท้วงเก่ง ที่จะจัดการทรัพยากร แต่ถูกปิดกั้นมาตลอด
    ที่ผ่านมารัฐไม่เคยศึกษา ค้นหา ตรวจสอบฐานรากของชุมชนจริง ๆ หรืออาจตรวจสอบแล้วเพิกเฉยเสีย









ข้อมูล อาคม เดชทองคำ เรื่อง วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์
ภาพ : ชัยชนะ จารุวรรณากร

---------------------------------------------------------------------------------------
สวัสดีครับ
                                     อ่านวัวชนลุงคำสิงห์...หรอยมาก...(จะขออ่านอีกรอบครับ) พอเห็นโคถึก..ก็นึกถึงเพลง..รักเหมือนโคถึกที่คึกพิโรธ...สงสัยตะหงิดๆ ว่า...เจ้าของคอกโคชน-โคถึก จะเป็น"อังเคิ้ลถึก"ของเราหรือปล่าว ? คอกนี้น่าจะขุนโคด้วยเบียร์...เสร็จแล้วร้องเพลงกล่อม ให้วัวฟัง..ลูกคอรัวดั่งเสียงระนาด..เอิ๊กส์.....
      
ลุงคำสิงห์
มีคนแถวบ้านป้าเสลา พึ่งเสียชีวิต
สาเหตุจากเส้นเลือดแตกในสมอง

มีคนเล่าว่า คนนี้พึ่งได้เงินจาก การชนะวัวชน
เป็นเงินก้อนใหญ่เลย
บ้างก็ว่า  7 แสน บ้างก็ว่าเป็นล้าน
คนๆนี้ อายุมากกว่าป้าเสลานิดหน่อย
แต่เป็นคนสุขภาพดี
ออกกำลังสม่ำเสมอ 


 
อ้างถึง
พิธีการประกาศชัยชนะนั้นสำคัญกว่า
มีความหมายกว่าในสังคมชนวัว "ชนะ"
เป็นเงินเท่าไหร่ไม่ต้องพูดถึง ขอให้ชนะเท่านั้นเป็นพอ

ไม่น่าเชื่อว่าความรู้สึกที่อิ่มใจจากพิธีการประกาศชัยชนะ
คงจะมีมหาศาล จนทำให้ผู้เลี้ยงทุ่มเท ดูแลวัวตัวโปรดของตน
อย่างมีฉันทะ วิริยะ เช่น กางมุ้งให้วัว ป้อนหญ้า พาเดินออกกำลัง
และถึงกับต้องกินนอนอยู่ข้างวัวนานนับเดือน ...

คงจะเป็นความรู้สึกระดับเดียวของผู้เลี้ยงไก่ชน
ที่ป้าเสลาเคยพบ
ลุงข้างบ้าน เลี้ยงไก่ชน ดูแลอย่างดี มีสุ่มครอบมีมุ้งคลุมอีกชั้นหนึ่ง
หาอาหารดีๆ วิตามินดีๆ มาให้ไก่ของแกกิน

แต่ตัวเจ้าของ ไม่ค่อยดูแลตัวเองเล้ยยยย...



0 comments:

Post a Comment