Wednesday, September 7, 2011

หัวเชือกวัวชน สัมพันธ์หลากหลายในสายเชือก

หัวเชือกวัวชน สัมพันธ์หลากหลายในสายเชือก


สารคดีซึ่งเรียบเรียงจากงานวิจัยเนื้อหาเข้มข้น ถึงลูกถึงคน และโด่งดังที่สุดในรอบปี
    ไม่เพียงแต่ต้องการตอบคำถามว่า เหตุใดในงานบุญเดือนสิบของนครศรีธรรมราช วัวชนกว่า ๒๐๐ ตัวจากทั่วภาคใต้จึงไปรวมกันเพื่อประกบคู่ชนตลอดเจ็ดวัน และมีการจัดชนวัวหมุนเวียนกันไปในแต่ละอำเภอแทบทุกสัปดาห์ตลอดทั้งปี พนันขันต่อเป็นเงินนับสิบล้านบาท
    ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ การค้นหาคำตอบว่า คนกับวัวซึ่งเป็นสัตว์ต่างสถานะ แต่มีเหตุปัจจัยใดที่ทำให้คนต้องปรับตัวเองเข้าหาวัวอย่างมีฉันทะ วิริยะ ตัวอย่างเช่น กางมุ้งให้วัว ป้อนหญ้า พาเดินออกกำลัง และถึงกับต้องกินนอนอยู่ข้างวัวนานนับเดือน


    วัฒนธรรมการชนวัวทางปักษ์ใต้ คงเริ่มจากการเลือกเอาโคถึกอายุ ๓-๔ ปี ในฝูงที่ใช้งานในไร่นา มาชนกันสนุก ๆ หลังฤดูเก็บเกี่ยว พร้อมกับคัดตัวพ่อพันธุ์ที่มีกำลังชั้นเชิงการต่อสู้ และมีน้ำใจอดทน แปรเปลี่ยนเป็นกีฬาพื้นบ้าน ที่มีการพนันสอดแทรก จนกระทั่งการชนวัว ถูกใช้ไปในเชิงธุรกิจการพนัน และการอาชีพมากขึ้นในปัจจุบัน
   
    * ขณะเดียวกันการชนวัว สนามวัวชนก็ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือ ในการเชื่อมกลุ่มผลประโยชน์เข้าด้วยกัน เพื่อโยงไปหาผลประโยชน์แอบแฝงอีกทอดหนึ่งด้วย เป็นต้นว่า ฐานคะแนนนิยมทางการเมือง

    * เรามักจะเห็นวัวชนต่อเมื่อมันถูกจูงเข้าบ่อน หรือยามออกเดินถนนกับคนเลี้ยง ตามสถานะความสัมพันธ์ระหว่างวัวชน กับคนเลี้ยงหรือเจ้าของ ทว่าระหว่างหัวเชือกทั้งสองข้าง คือในมือคนจูงวัวข้างหนึ่งกับจมูกวัวข้างหนึ่ง ยังประกอบด้วยสายสัมพันธ์แวดล้อมอื่น ๆ ที่มองไม่เห็นของ "สังคมชนวัว"

    * นับตั้งแต่ครอบครัวคนเลี้ยงวัว, เถ้าแก่ (นักธุรกิจ) เจ้าของวัว, นายสนามชนวัว, ผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดชนวัว, นักพนัน, พ่อค้าแม่ค้า, คนให้เช่าที่พักวัว, ผู้อุปถัมภ์สนาม, นักการเมืองท้องถิ่น เป็นกลุ่มเครือข่าย เป็นย่านใยวัฒนธรรมการชนวัว ทั้งในและนอกบ่อน-- เป็นกลไกโครงสร้างส่วนที่มีความแข็งแกร่ง ยึดโยงกันเหนียวแน่นในแวดวงตัวเอง

    * เชือกเส้นนี้ยังอาจหมายรวมถึงขนบนิยมว่าด้วยการเสี่ยงสู้ ความต้องการเอาชนะ ไว้เหลี่ยมไว้เชิง แม้ไม่ได้เปรียบ ก็ไม่ยอมเสียเปรียบของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาศัยวัวชนเป็นตัวแทน

    * คติหรือตาหนาจากสภาพแวดล้อมในสังคมชนวัวสอนให้รู้ว่า หากต้องการเอาชนะจะต้องเลี้ยงวัวชนในสถานะหุ้นส่วนของชีวิต ถ้าปล่อยปละละเลยจะไม่มีทางกำชัยชนะได้เลย



เรื่อง :  นิตยสาร สารคดี
ภาพ  : ชัยชนะ จารุวรรณากร


หั ว เ ชื อ ก วั ว ช น

 

    เชือกในมือเด็กเลี้ยงวัวถูกทอดออกไป ขดกลับเข้ามา แล้วก็ทอดออกไปอีก ปลายของมันพุ่งไปในทิศทางของวัวชนกลางลานทราย แต่ไม่ถึง อย่างนี้ไม่รู้กี่เที่ยวต่อกี่เที่ยวตลอดการพันตูของ "ไอ้โหนด" คล้ายกับจะสื่อความรู้สึกจากใจคนเลี้ยงว่า
    "เอาให้ตายเลยไอ้โหนด" 
      ไอ้โหนดทดแทนใจพ่อแม่พี่น้องที่โยนมากับเชือกจูงวัว ด้วยลีลาชนอันจัดจ้าน เสยเขาทิ่มแทงคู่ต่อสู้ เสียง "ผลัวะ ๆ" ได้ยินถึงบนอัฒจันทร์ แลเห็นได้ชัดว่า "โคขาว" ฝ่ายตั้งรับกล้ามเนื้อสั่นระริกตลอดตัว อย่างนี้ราคาต่อรอง "สิบสองร้อย/ร้อย" ไม่มีใครรอง
ความจริงตามคำบอกเล่า วัวชนไม่เคยชนกันถึงตาย (แม้กระทั่งสาหัส) มันรู้แพ้รู้ชนะตามประสาสัตว์ ที่จะตายก็คนดูนั่นละ เวลาลุ้นเมามัน คนถือเชือกกับอีกบางรายที่ใกล้ชิดเหตุการณ์ ก็จะเคลื่อนตัวเข้าใกล้วัวโดยไม่รู้ตัว จนกรรมการกลางสนามต้องเอาผ้า หรือไม้ใกล้มือไล่ฟาด พวกนั้นจึงถอยกลับด้วยท่าทีพร้อมจะเขยิบเข้าไปใหม่ทุกเวลา
    ชวนสงสัยว่าอะไรทำให้ต้องทุ่มเทเชียร์กันขนาดนี้ ?
    พอวัวชนะ บ้างก็ชูมือกระโดด...ตีลังกาลงในปลักขี้เลน  แสดงอาการลิงโลด เข้าสวมกอดวัวทั้งกลิ่นคาวเลือด บางคนร่ำไห้ออกมาด้วยความหนำใจ "ได้แรงอก" ภาพต่อมาเป็นการคล้องพวงมาลัย ตกแต่งประดับประดาเขาด้วยปลอกที่มีพู่สีสดใส ตลอดจนเสื้อสามารถก็มีให้วัว ชาวบ้านร้านตลาดเห็นต้องรู้ว่า "วัวกูชนะ" โดยที่วัวไม่รู้ความหมายคุณค่าที่แท้ของสิ่งเหล่านี้เลย ด้านผู้แพ้พากันจูงออกทางด้านหลัง หน้าบอกบุญไม่รับ
    ชัยชนะหมายถึงเงินรางวัลตุงกระเป๋าเสื้อ กระเป๋ากางเกงเจ้าของวัว และพรรคพวก แต่ว่าไปแล้ว พิธีการประกาศชัยชนะนั้นสำคัญกว่า มีความหมายกว่าในสังคมชนวัว "ชนะ" เป็นเงินเท่าไหร่ไม่ต้องพูดถึง ขอให้ชนะเท่านั้นเป็นพอ
    อย่างน้อย ชัยชนะที่บ่อนบ้านเสาธงครั้งนี้ก็ทำให้ "โหนดนำโชค" วัวชาวบ้านจากลานสะกามีคนกล่าวขวัญถึงอีกนาน มีนายหัวสนใจอยากได้เป็นเจ้าของมากขึ้น และที่สำคัญสามารถทำให้มันยืนเป็นตัวหลักของวัวชน "รอบพิเศษ" ในรายการใหญ่ที่กำลังจะมาถึงได้สบาย ๆ
    ณ อีกมุมของบ่อนบ้านเสาธง นักเลงวัวชนคนหนึ่งเฝ้าดู "ทางชน" ของไอ้โหนดอย่างตื่นเต้น เขาเป็นเจ้าของโคขาวเพชฌฆาตจากอำเภอทุ่งใหญ่
    ตื่นเต้นเพราะรู้เลยว่ามีโอกาสในการช่วงชิงชัยชนะจาก "โคโหนดนำโชค" ผู้ชนะในวันนี้ 


ข้อมูล อาคม เดชทองคำ เรื่อง วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์
ภาพ : ชัยชนะ จารุวรรณากร

วัวใต้


    ฝนโปรยรับงานเดือนสิบแต่เช้าวันต้นเทศกาล ดังคำท่านว่า "คนมีวาสนาทำบุญฝนตก ยาจกทำบุญแดดออก" ด้านคนต่างถิ่นก็เข้าถึงภาวะที่ เอาแน่เอานอนไม่ได้ ของอากาศคาบสมุทรภาคใต้ไปพร้อมกัน

    ชนวัวเป็นส่วนหนึ่งของงานบุญ ? คงไม่ใช่เรื่องจะมาสอบถามกันเวลานี้ (มิฉะนั้นจะต้องลากไปถึงว่า "บุญ" คืออะไร) การชนวัวดำรงอยู่ควบคู่กับจังหวัดนครศรีธรรมราชมาช้านาน ในฐานะกีฬาพื้นบ้าน ในเทศกาลบุญเดือนสิบ ตรุษสงกรานต์ ปีใหม่ ถือว่าขาดวัวชนไม่ได้
    ช่วงเทศกาลบุญเดือนสิบ (ราวปลายเดือนกันยายน) สนามชนวัวหรือบ่อนวัวบ้านยวนแหลของอำเภอเมือง จัดมหกรรมชนวัวต่อเนื่องกันเจ็ดแปดวัน เปิดฉากจากสาย ๆ ว่ากันไปจนใกล้ค่ำจึงแล้วเสร็จ ๑๘-๒๐ คู่ มีให้ดูกันจุใจขนาดนี้ บริเวณรอบ ๆ สนามชนวัวจึงกลายเป็นคอกขนาดใหญ่ให้โคถึกกว่า ๒๐๐ ตัวพักแรมรอลงสนาม พร้อมคนเลี้ยงวัว หุ้นส่วนชีวิตที่กินนอนด้วยกันนานแรมเดือน
    ชนวัวช่วงเทศกาลจัดว่าเป็นนัดพิเศษ วัวเก่งก็มีวัวใหม่ก็มาก เนื่องจากตลอดปี จังหวัดนครศรีธรรมราชมีชนวัวแทบทุกสัปดาห์ หมุนเวียนกันไปในหกสนามของอำเภอต่าง ๆ โดยแต่ละสนามได้รับอนุญาตให้จัดเดือนละครั้ง 

 

       หากต้องการขยายภาพความนิยมใน "กีฬา" ชนิดนี้ ให้กว้างขึ้นจากเมืองคอน จะเห็นว่าพัทลุง ตรัง สงขลาก็มีบ่อนชนวัวของตัวเองจังหวัดละสองสามสนาม รวมเป็น ๒๒ สนามทั่วภาคใต้ในขอบเขตวัฒนธรรมชนวัว บางจังหวัดแม้ไม่มีบ่อนชนวัวเป็นการถาวร แต่ก็นิยมเลี้ยงไว้ขายและชนต่างถิ่น
    วัวดีที่สุดของภาคใต้ขณะนี้ นักเลงวัวยอมรับว่าเป็นวัวของบ้านนาสาร สุราษฎร์ธานี ซึ่งไม่มีสนามชนวัวของตัวเอง
    นอกจากนี้ การที่โคถึกวัยคะนอง ช่วงอายุระหว่าง ๕-๑๕ ปี ไม่อาจจะลงสนามได้ทุกบ่อยเหมือนนักมวยงานวัด ชนครั้งหนึ่งต้องพักรักษาตัวไปสองสามเดือน บางตัวต้องหกเดือน จึงติดคู่ชนครั้งใหม่ อาจเป็นตัวอย่างทางสถิติ แสดงให้เห็นว่าเรามีวัวชนหมุนเวียน อยู่ในลานทรายอันมหึมามากมายเพียงใด
    หากคุณนั่งรถผ่านย่านที่มีรถเก๋ง รถปิกอัป มอเตอร์ไซค์จอดเต็มสองฟากถนนเป็นแนวยาว เก้าในสิบที่เจอก็ควรเป็นสังเวียนชนวัว ที่ซึ่งเงินสด ๆ สะพัดวันละเหยียบ ๑๐ ล้านบาท หากเป็นวัวดีของภาคใต้ค่าหัว ๓-๔ แสนบาทโคจรมาเจอกันด้วยแล้วบ่อนแทบปริ ค่าผ่านประตูรอบเดียวอาจเก็บได้ถึง ๓ ล้านบาท เหมือนที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์จำติดตาว่า "ใบห้าร้อยยัดใส่หลัว...ไม่ต้องนับ"
    เรามักจะเห็นวัวชนต่อเมื่อมันถูกจูงเข้าสนาม หรือยามออกเดินถนนกับคนเลี้ยง ตามฐานะความสัมพันธ์ ระหว่างวัวชนกับคนเลี้ยงหรือเจ้าของ ทว่าระหว่างหัวเชือกทั้งสองข้าง คือในมือคนจูงวัวข้างหนึ่งกับจมูกวัวข้างหนึ่ง ยังประกอบด้วยสายสัมพันธ์แวดล้อมอื่น ๆ ที่มองไม่เห็นของ "สังคมชนวัว" ซึ่งควรแก่การสนใจไม่น้อย นับตั้งแต่ครอบครัวคนเลี้ยงวัว, เถ้าแก่ (นักธุรกิจ) เจ้าของวัว, นายสนามชนวัว, ผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดชนวัว, นักพนัน, พ่อค้าแม่ค้า, คนให้เช่าที่พักวัว, ผู้อุปถัมภ์สนาม, นักการเมืองท้องถิ่น นอกจากนี้ยังอาจหมายรวมถึง ขนบนิยมแฝงเร้นว่าด้วยการเสี่ยงสู้ ความต้องการเอาชนะ ไว้เหลี่ยมไว้เชิง ไม่ยอมเสียเปรียบของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาศัยวัวชนเป็นตัวแทน
    การคลายเกลียวเชือกแห่งความสัมพันธ์คงต้องเริ่มตั้งแต่ -- วิถีความคิดเกี่ยวกับการได้มาซึ่งวัวดี


       การได้มาซึ่งชัยชนะต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกเฟ้นวัวชน
    "ลุงดำ" เจ้าของวัวโหนดนำโชค ยังคงเชื่อเรื่องลักษณะเด่นจำเพาะของวัวดี ที่คนรุ่นเก่าเชื่อถือสืบกันมาว่า ให้
ดู ที่ขวัญ เขา สี ลักษณะอันเป็นศุภลักษณ์"โคโหนด" มีสีแดงอมน้ำตาลระเรื่อของลูกตาลโตนดตรงบริเวณลำตัว ใต้ท้อง ส่วนหัวและสะโพกเป็นสีดำ "โคดุกด้าง" หมายถึงสีเทา - ดำหม่นเหมือนสีปลาดุก "ลังสาด" ก็คือสีน้ำตาลของผลลางสาด นอกจากนั้นก็มี สีแดง สีขาว นิลที่เป็นสีดำจนถึงดำเข้มตลอดทั้งตัว นักเลงวัวเรียกขานวัวของเขา จากสีพ่วงท้ายด้วยฉายาที่อาจเป็นลักษณะเฉพาะของวัวตัวนั้น หรือที่เป็นมงคลโดนใจ
    แต่ละสียังมีโทนสีปลีกย่อยออกไปพอสมควร น่าสนใจตรงที่มีความเชื่อกันว่า วัวสีหนึ่งจะชนะวัวบางสี และอาจจะแพ้วัวบางสี เช่น วัวนิลเพชรชนะวัวโหนด วัวโหนดชนะวัวขาว ส่วนวัวที่ถือกันว่ามีลักษณะดีเลิศ ชนะวัวทั้งปวงคือ "วัวศุภราช" ลำตัวสีแดงเหมือนแสงเพลิงที่รุ่งโรจน์ แต่มีรอยด่างขาวตั้งแต่โคนหางตลอดถึงตา โดยเฉพาะบริเวณเท้าทั้งสี่ หาง หนอก หน้า ดังคำกล่าวที่ว่า "ตีนด่าง หางดอก หนอกผาดผ้า หน้าใบโพ" แต่วัวลายโดยทั่วไปที่ไม่ใช่วัวศุภราช จะไม่เป็นที่นิยมใช้เป็นวัวชน เพราะถือว่า "วัวลายควายขาวย่อมใจเสาะ" เจ้าของบางคนเลือกวัวที่สีถูกโฉลกกับชะตาราศีตัวเองด้วย 
       ดูขวัญ เขา สีแล้ว ยังต้องดูลักษณะเด่นบางอย่างประกอบ ตั้งแต่ รูปหน้า หู ตา หาง ลึงค์ ลูกอัณฑะ จนถึงขนที่อวัยวะเพศ อย่างที่ชาวบ้านประมวลไว้คล้องจองว่า "หู ตาเล็ก หางร่วง หัวรก หมอยดก คิ้วหนา หน้าสั้น เขาใหญ่ ลูกไข่ช้อนไปข้างหน้า" แต่ถ้าวัวมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งที่ เขากาง หลังโกง หางสั้นหรือยาวมากเกินปรกติ ถือกันว่าไม่ดี
    แต่จากประสบการณ์ของคนเลี้ยงวัว ไม่มีวัวตัวใดที่มีนิมิตดี ครบถ้วนทุกลักษณะวัวชน แล้วจริง ๆ ก็ไม่น่าจะมีวัวครอบครองลักษณะเลว ครบถ้วนทุกกระบวนท่าเหมือนกัน ส่วนใหญ่มีทั้งลักษณะดีและร้ายคละปนกัน วัวชนที่มีลักษณะดี ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นวัวชนที่ดี  และชนชนะเสมอไป ขณะที่ตำราลักษณะวัวชนกล่าวว่า วัวที่ลักษณะร้ายสามข้อดังกล่าวข้างต้น รวมอยู่ในตัวเดียวกัน คือ "เขากาง หางเกิน และหลังโกง" ก็กลับถือว่าเป็นลักษณะที่ดี ว่ากันว่า "แดงไพรวัลย์" วัวชนลือชื่อในอดีตก็มีลักษณะเช่นนี้
    สิ่งที่คนรุ่นก่อนบอกเล่าต่อมาในรูปมุขปาฐะ นับเป็นภูมิปัญญาจากการเฝ้าสังเกต เก็บข้อมูลมาเนิ่นนาน วัวชนเป็นกีฬาที่ต้องต่อสู้แบบประจันหน้าตัวต่อตัว ดังนั้นการที่อวัยวะบางส่วน มีคุณลักษณะเด่น ก็จะเป็นฝ่ายได้เปรียบคู่ต่อสู้ ในขณะที่อวัยวะบางส่วนต้องมีขนาดเล็ก เพื่อจะได้รอดพ้นจากการทำลายของคู่ต่อสู้ให้มากที่สุด คนปักษ์ใต้แยกอธิบายว่า 
       "เขา" วัวชนต้องมีโคนเขาใหญ่และแคบ ช่วยป้องกันไม่ให้ปลายเขาของคู่ต่อสู้ ทะลวงเข้าไปทิ่มแทงกล้ามเนื้อบริเวณกกหู และลำคอได้
       "วงหน้า" ต้องมีขนาดเล็ก มนและสั้น ด้านหน้าของหัวแคบมีความสัมพันธ์กับโคนเขาใหญ่ ทั้งนี้ก็เพื่อ จำกัดพื้นที่ส่วนหน้า ที่จะต้องเสียดสี และเปิดรับอาวุธคู่ต่อสู้ให้น้อยที่สุด
        "คิ้วและตา" คิ้วหนา ตาเล็กต่างก็เกื้อกูลในทำนองที่จะช่วยปกป้องตา ไม่ให้ได้รับอันตรายจากทั้งปลายเขาของคู่ต่อสู้ และเลือดที่ไหลในขณะทำการต่อสู้
      ขณะที่ลักษณะบางอย่างน่าจะมาจากความเชื่อล้วน ๆ เช่น "หัวรก หมอยดก" ชาวบ้านแปลความว่า เป็นวัวที่มีใจมาก น้ำอดน้ำทนสูง ไม่ยอมแพ้คู่ต่อสู้ง่าย ๆ

สังเวียนกลางทุ่ง


    ตอนลุงดำซื้อไอ้โหนดมา มันอายุราวหกเดือน เงิน ๖,๐๐๐ กว่าบาทก็เหมาะสมดีกับวัวพันธุ์พื้นเมือง ที่ใช้งานในไร่นาทั่วไปวัยขนาดนี้ ส่วนมากคนซื้อไม่รู้หรอกว่า ลูกวัวที่ได้มา มีเชื้อพันธุ์วัวชนเก่งกาจผสมอยู่บ้างหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นลูกวัวสายพันธุ์ดีนั้น ซื้อขายกันในราคาสูงเกิน ๑ หมื่นบาท
    แต่แกเห็นว่ามันมีรูปลักษณ์ดีตามคตินิยม (เท่าที่เห็นได้ในขณะนั้น)
    วัวทั่วไปพออายุ ๓-๔ ปีก็เริ่มถึก และเริ่มชิงความเป็นจ่าฝูง โดยการประลองกำลังชั้นเชิงในการต่อสู้ และน้ำใจอดทน เจ้าของฝูงจะคัดเลือกตัวชนะไว้เป็นพ่อพันธุ์ ตัวที่แพ้ก็ทุบลูกอัณฑะตอนเสีย ไม่ให้ขยายพันธุ์เสีย เรียกกันว่า "วัวลด" แต่สำหรับคนเลี้ยงระดับชาวบ้าน มีวัวแค่วัวสองตัว ถ้าชนเก่งก็ถือว่าโชคดีเหมือนถูกหวย ถ้าไม่สู้เพื่อนก็เลี้ยงเป็นวัวเนื้อโดยปริยาย ไอ้โหนดโตเป็นหนุ่มก็เริ่มส่อแววว่า มีอุปนิสัยส่อไปในเชิงชอบต่อสู้ เช่น ซุกซน ปราดเปรียว ชอบชนกับวัวอื่น ๆ ในทุ่ง ไม่กลัวแม้เผชิญหน้ากับตัวใหญ่กว่า ประสาที่เรียกว่า วัวด้น - แบบเดียวกับมฤตยูดำ ไมค์ ไทสัน นักมวยเฮฟวีเวต
    จึงเริ่มซ้อมชนกลางทุ่งนาเพื่อดูทางชน หรือชั้นเชิงของมันว่าจะอยู่ในระดับไหน ที่สำคัญมากคือดูใจแห่งความเป็นนักสู้ว่าชนได้นานเพียงใด หากวัวชนได้เพียง ๕ นาที หรือเพลี่ยงพล้ำเพียงเล็กน้อย แล้วหันหลังหนีก็ใช้ไม่ได้ เหมาะจะเลี้ยงเป็นวัวเนื้อมากกว่า การชนแบบนี้จะต้องพันเขาด้วยพลาสเตอร์ เพื่อแสดงเจตนาบริสุทธิ์ว่า ไม่ได้เล่นพนัน และมักชนกับวัวรุ่นราวคราวเดียวกัน ที่ไม่เคยผ่านสังเวียนจริงมาก่อน 

      ปัจจุบันวัวที่ชาวบ้านซื้อมาเลี้ยงราคา ๑ หมื่นบาท พอเอามาซ้อมชนจะจะเพียงครั้งสองครั้ง อาจขายให้เถ้าแก่ได้ทันที ๔-๕ หมื่นบาท ทว่าหลายคนก็ปฏิเสธไม่ยอมขาย ลึก ๆ ทุกคนก็หวังจะให้วัวโตขึ้นมา กลายเป็นตำนานวัวชนอย่างโคโพเงิน โคแดงไพรวัลย์ โคขาวรุ่งเพชรทั้งนั้น โคโพเงินเป็นวีรบุรุษของครอบครัวกาฬคลอด และชาวบางบูชา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากตายไปแล้ว คนในครอบครัวยังให้ความรักความผูกพันประหนึ่งยังมีชีวิตอยู่ จึงได้สตัฟฟ์ไว้บูชาและจัดที่อยู่อันควรให้
    เจ้าโหนดเองก็มีคนเลียบเคียงขอซื้อมากมาย แต่เมื่อมันชนชนะสังเวียนกลางทุ่งครั้งหลังสุด ลุงดำและพรรคพวก ก็รู้ว่ามันจะเป็นวัวมีระดับในอนาคต ได้ใช้ชีวิตท่องไปตามสังเวียน เพื่อล่าเดิมพันวงเงินล้าน
 ความจริงเกี่ยวกับชีวิตวัวชนข้อหนึ่งจากปาก นักเลงคือ การเป็นวัวชน เท่ากับยืดเวลาการตายของมันออกไป นานกว่าปรกติ วัวดี สุขภาพสมบูรณ์จะสามารถชนจนถึงอายุ ๑๒-๑๕ ปี พวกนี้มักจะอยู่ได้จนสิ้นอายุขัยในแปลงหญ้า ขณะที่วัวไม่ได้เป็นวัวชน อายุได้เพียง ๓-๔ ปีก็ถูกส่งขายเขียงเนื้อ 


 "โค นิลเพชรหัวใจสิงห์" ดาวรุ่งอายุ ๗ ปีของบ่อนยวนแหล มีประวัติต่างจากไอ้โหนด มันเป็นผลผลิตจากสายพันธุ์ของวัวชนชั้นดี สายพันธุ์ดีหมายถึง gene วัวชนชั้นเลิศจากทางสายแม่ (พ่อของแม่เป็นวัวชน หรือพี่น้องตัวผู้ของแม่เป็นวัวชนระดับแชมป์เปี้ยน) ยิ่งถ้าผสมกับสายพ่อที่เป็นวัวชนระดับขุนพล ลูกที่ได้ย่อมมีพันธุ์ประวัติดี เข้าทำนอง "เชื้อมักไม่ทิ้งแถว"
    เจ้านิลมีองค์ประกอบสำคัญซึ่งเป็นที่นิยมอีกข้อหนึ่ง คือโครงสร้างของร่างกายที่แข็งแรง -- คร่อมอกใหญ่ บั้นท้ายเล็กเรียวลาดลงคล้ายสิงโต วัวคร่อมอกใหญ่ได้เปรียบเพราะ ยามเข้าต่อหัว วัวจะทุ่มน้ำหนักไปข้างหน้าทั้งหมด ฝ่ายที่มีหน้าตัดของกล้ามเนื้อมาก หรือมีมวลมากย่อมได้เปรียบ จะสามารถกดดันคู่ต่อสู้ ให้เสียการทรงตัวได้ง่าย ขณะเดียวกันก็ต้านแรงปะทะจากคู่ต่อสู้ได้ดี 
    ทุกวันนี้เวลาจะซื้อวัวชน คนมีแนวโน้มที่จะเลือกวัวสายพันธุ์ดี (แม้ราคาแพงกว่าสองสามเท่า) มากกว่าจะเลือกว่าขวัญอยู่ตรงหนอก หรืออยู่กลางหลังตามภูมิความรู้ที่สั่งสมมา กระแสคิดที่แปรเปลี่ยน นอกจากแสดงว่าคนอาศัยหลักวิทยาศาสตร์ ในการคัดเลือกมากขึ้นแล้ว จะเป็นไปได้ไหมว่า มันยังสะท้อนถึงลักษณะนิสัย เกี่ยวกับความต้องการเอาชนะ ที่เข้มข้นขึ้นของคนกลุ่มนี้ด้วย 
       วัวทั้งสองแสดงชั้นเชิงเข้าตานักเลงวัว และได้รับการขุนอย่างจริงจัง ฟิตตัว ออกกำลังแข็งแกร่ง...กล้ามคอขึ้นแน่นปึ้ก
    หลังจากชนบ่อนชนะเพียงสองครั้ง มันก็ถูกซื้อมาอยู่กับเถ้าแก่ของบ่อนยวนแหล ด้วยราคา ๔ หมื่นบาท ตอนนี้ราคาของมันสูงจน "ไม่มีราคา" "ซื้อสิบกว่าเราก็ไม่ขาย" ครูจุ๋ม เจ้าของใหม่บอก "มันไม่ได้มีไว้ขาย" -- "สิบ" ของเขาภาษานักเลงวัวนักพนันหมายถึง ๑ แสนบาท
    ความที่ "เนื้อเลี้ยง" -กำลังบำรุงดี ทำให้ไอ้นิลได้รับการวาง (ซ้อมชน) ทุก ๑๕-๒๐ วัน มีคนเลี้ยงประจำสองคน ไม่นับคนตัดหญ้า อีกทั้งลุงเจ้าของคนเดิม ที่หมั่นมาดูแลเสมือนเป็นพี่เลี้ยงให้อีกคน
    ในรอบหนึ่งวัน ทั้งเช้าและเย็นไม่ว่าสภาวะอากาศจะอย่างไร คนเลี้ยงจะพาวัวเดินออกกำลังตามถนนดิน หรือชายหาด ระยะทางใกล ้- ไกลตามแต่ต้องการ เดินวัวรอบเช้ากลับมา จะต้องอาบน้ำขัดสีฉวีวรรณให้วัว ยิ่งใกล้วันแข่ง จะมีการเพิ่มรอบอาบ พร้อมด้วยการนวดเฟ้นให้วัวสดชื่นกระปรี้กระเปร่า หญ้าที่วัวชนกินต้องเป็นหญ้าตัดสด ๆ เท่านั้น ไม่ปล่อยให้วัวเดินแทะเล็มหญ้ากินเอง ในระยะหลังเริ่มมีการเลือกชนิดของหญ้าด้วยว่า ต้องเป็นหญ้าหราดกับหญ้าหวายข้อ ที่มีไขมันน้อยเท่านั้น วัวจึงได้รับธาตุอาหารที่เหมาะสม บางคนพอวัวติดคู่ชนแล้ว จะไม่ตัดหญ้าซ้ำที่เดิม เพราะกลัวถูกวางยา
    วัวกินหญ้าไปพร้อม ๆ กับ "ตรากแดด" แม้เมื่อกินหญ้าอิ่มแล้ว ก็ยังคงถูกปล่อยไว้ที่เสาหลักกลางแจ้ง ท่ามกลางแสงแดดที่แผดจ้าต่อไป เพื่อลดไขมัน และสร้างความเคยชินต่อภาวะตรากตรำ จะทำให้ไม่เหนื่อยง่ายเมื่อทำการชนจริง


    สำหรับคนเลี้ยงวัวระดับชาวบ้าน กิจกรรมการประคบประหงม ต้องใช้แรงงานอย่างน้อยสองคน ไม่พ่อกับแม่ก็พ่อกับลูกชาย ต้องใช้ทั้งเวลา และความวิริยะอุตสาหะ ชาวบ้านจึงเลี้ยงวัวชนได้ไม่มากกว่าคราวละหนึ่งตัว หากมีภาระต้องดูแลลูก หาเงินส่งลูกก็เลี้ยงไม่ได้
    ฝ่ายคนที่รับจ้างเถ้าแก่เลี้ยงวัวก็ใช่ว่าเขาจะมีความผูกพันธ์ มุ่งมั่นในชัยชนะ ถึงขั้นทุ่มเทชีวิตให้แก่วัวชนน้อยกว่ากรณีที่เป็นเจ้าของเลี้ยงเอง เพราะความจริงคือ พวกเขาจะต้องกินนอนอยู่กับวัว เกือบตลอดเวลาอยู่แล้ว หรือถ้าจะพูดให้ถูก วัวชนตัวนั้นเป็นของพวกเขานั่นเอง โดยที่มีเถ้าแก่ (ซึ่งทำธุรกิจอย่างอื่นเป็นหลัก) ซื้อมาให้เลี้ยง
    คำว่า เลี้ยงวัว ของบรรดาเถ้าแก่ นายหัว จึงหมายถึงเขาจะต้องเลี้ยงคนเลี้ยงวัว เลี้ยงครอบครัวของคนเหล่านั้นให้อยู่ดีกินดี ถ้าครอบครัวคนเลี้ยงวัวมีปัญหา เถ้าแก่จะต้องมาดูแลด้วย มิฉะนั้นวัวจะมีปัญหาไปด้วย เหมือนที่มีคนสรุปว่า "ถ้าเขากินไม่อิ่ม ต้องมีปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใดต่อวัวอย่างแน่นอน"
    เพราะสภาพแวดล้อมในสังคมชนวัวสอนให้รู้ว่า วัวชนนั้นต้องอยู่ในสถานะหุ้นส่วนของชีวิต ถ้าเลี้ยงแบบทีเล่นทีจริง ทำแบบขอไปทีก็จะไม่มีทางกำชัยชนะได้เลย
    เมื่อตัดสินใจได้ว่าวัวและตัวเองพร้อมที่จะติดคู่ชนแล้ว เจ้าของก็จะเอาวัวไปเปรียบที่บ่อน ตามวันเวลานัดหมาย หรือถ้าเป็นวัวมีชื่อชั้น ก็อาจตกลงติดคู่กันเองระหว่างเจ้าของวัว หรืออาจมีคนกลางเชื่อมประสานหาข้อตกลงโดยไม่ต้องไปที่สนาม
    การเปรียบวัวถือเป็นการประลองกำลังขั้นแรก ซึ่งอาจส่งผลถึงการแพ้ - ชนะกันได้

0 comments:

Post a Comment